ผู้บริหาร meb ให้สัมภาษณ์กับทีมข่าว MGR Live ปีเดียวยอดขายเฉียดพันล้าน!! “MEB” ผู้อยู่รอดยุคโควิด สง่างามในธุรกิจ E-Book

เปิดใจ 2 ผู้ก่อตั้ง “MEB” แพลตฟอร์ม E-Book สัญชาติไทย ปีเดียวทำยอดขายกว่า “พันล้าน” กำไรทะลุ “ร้อยล้าน” บอกเลย “ไม่ใช่แค่ดวง โอกาสมันอยู่ข้างหน้า อยู่ที่คุณคว้ามาได้รึเปล่า

“สัปดาห์หนังสือที่บ้าน” พลิกโควิดให้เป็นโอกาส

ท่ามกลางวิกฤตการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เรียกได้ว่า สร้างความเดือดร้อนไปทุกหย่อมหญ้า สำหรับด้านเศรษฐกิจ ที่หลายธุรกิจต้องล้มหายตายจากเพราะแบกรับความเสียหายที่เกิดขึ้นไม่ไหว

โดยเฉพาะในแวดวงตลาดหนังสือนั้น ข้อมูลจากสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ในปี 2563 ตลาดหนังสือเติบโตต่ำที่สุดในรอบ 10 ปี นับตั้งแต่ปี 2554

แต่ขณะเดียวกัน ก็ยังมีธุรกิจอีกไม่น้อย ที่มองเห็นทางรอดจากสถานการณ์นี้ เรากำลังพูดถึง บริษัท MEB Corporation จำกัด ที่ดำเนินธุรกิจร้านหนังสือ online หรือที่เรียกกันว่า E-Book (ย่อมาจากคำว่า Electronic Book หมายถึง หนังสือที่สร้างขึ้นด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์)

โดยมี “ไช้-รวิวร มะหะสิทธิ์”และ “โก๋-กิตติพงษ์ แซ่ลิ้ม” 2 เพื่อนซี้ผู้ก่อตั้งและผู้บริหาร meb : mobile e-books ร้าน E-Book สัญชาติไทย ซึ่งในปี 2563 startup แห่งนี้ สามารถทำรายได้เกือบ 1,000 ล้านบาท!!

และในโอกาสนี้ ทีมข่าว MGR Live ได้คว้าตัวทั้งคู่ มาพูดคุยถึงที่มาที่ไปและเบื้องหลังความสำเร็จ ไช้กล่าวว่า จากข้อจำกัดของการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ต้องวางกลยุทธ์ทางการตลาดใหม่ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น

“โควิดมันเป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากของทุกคน ช่วงที่มีการประกาศล็อกดาวน์ เราจะต้องอยู่บ้าน ในโลกของอินเตอร์เน็ต สถานการณ์นี้มันกักขังเราไว้ไม่ได้ คนเราก็ยังมีจิตใจที่อิสระ แต่สิ่งที่คนเราเหมือนกันคือเรื่องความบันเทิง

ทาง MEB เราก็เป็น platform E-Book เป็นความบันเทิงจากการอ่าน การอ่านหนังสือทำให้เราได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆทำให้เราเพลิดเพลิน พร้อมกับได้ความรู้ต่างๆ เราจะได้ประโยชน์ เพราะสมมติเราอยากอ่านหนังสือช่วงล็อกดาวน์ สั่งมาวันสองวันส่งเร็วยังไงต้องใช้เวลา แต่ถ้า E-Book สามารถเลือกดูแล้วสั่งได้เลย

พอมีสถานการณ์ที่มันดูแปลกๆ ทางทีมเราก็ต้องเริ่มทำงานหนักแล้วว่า เราจะทำยังไงดี เราประชุมกันอย่างหนักว่าเราจะทำยังไงเพื่อให้ธุรกิจเราเติบโตได้ เรารู้ว่าคู่ค้าขาย E-Book หลายๆ ที่ เขาขายหนังสือเล่มด้วย ก็อาจจะมีผลกระทบต่อยอดขายได้ เราก็คุยกันว่าเราสามารถจับมือกับ partner ได้มั้ย เพื่อที่จะทำ promotion ต่างๆ หรือกิจกรรมการตลาด ที่จะทำให้ยอดขายจาก E-Book สามารถช่วยเหลือยอดขายธุรกิจของ partner เราที่อาจจะได้รับผลกระทบจากโควิดโดยตรง

เขากล่าวต่อว่า หลังจากผ่านการประชุมทุกทีมอย่างเข้มข้น ก็ตกผลึกมาเป็น “สัปดาห์หนังสือที่บ้าน” ที่ได้รับการตอบรับอย่างดีเกินกว่าที่คาดคิดไว้

“ครอบคลุมไปถึงโควิดระลอก 1 ตอนปี 2020 เป็นช่วงที่ศูนย์สิริกิติ์ปิดปรับปรุง และจะย้ายงาน Book fair สัปดาห์หนังสือแห่งชาติไปที่เมืองทองธานี การย้ายที่คนก็เริ่มมีความกังวล นักอ่านก็อาจรู้สึกว่าเดินทางลำบาก สำนักพิมพ์หลายๆ ที่ก็ลังเลว่าจะไปดีมั้ย ช่วงนั้นโควิดเริ่มแรงขึ้น ยิ่งกลายเป็นปัจจัยลบ เราก็กลัวโควิดด้วย ก็อาจจะยังไม่ค่อยอยากไป

เราคิดว่าจะดีมั้ยถ้าเรามีสัปดาห์หนังสือฉบับ E-Book ขึ้นมา ก็พยายามประชุมกันหลายๆ ทีม สุดท้ายก็สรุปมาว่า “สัปดาห์หนังสือที่บ้าน” เป็น online e-book fair ครั้งแรก เราก็วางแผนสิ่งนี้มาเรื่อยๆ พอต้องล็อกดาวน์ สถานการณ์มันคนละเรื่องเลย เราคิดว่าเราต้องเปิด event นี้แล้ว เรียกว่าเราเตรียมตัวมาแล้วจังหวะมาพอดี

เราทำสัปดาห์หนังสือที่บ้าน เราก็คาดการณ์แล้วว่าจะได้รับความนิยมค่อนข้างเยอะ แต่พอเอาเข้าจริง ให้นึกภาพว่าเราเปิดประตูร้าน promotion เริ่มขึ้นแล้ว คนก็แห่พุ่งมาจนประตูห้างพัง นั่นคือสิ่งที่เกิดขึ้น เราก็ดีใจที่ได้รับการตอบรับล้นหลาม

แต่ต้องบอกว่ามันไม่ใช่ธุรกิจออนไลน์ทุกแห่งที่เขาได้ผลประโยชน์ตัวนี้ ผมมองว่าคนที่ได้ประโยชน์สุด ก็คือคนที่เตรียมตัวรับสถานการณ์นั้นได้ดีกว่าคนอื่น มันไม่ใช่แค่ดวง และมันไม่ใช่แค่พลิกวิกฤตเป็นโอกาส โอกาสมันอยู่ข้างหน้า คุณคว้ามันมาได้รึเปล่า ซึ่งสิ่งนี้เป็นสิ่งที่ MEB พิสูจน์แล้วว่า MEB คว้ามาได้ ก็อยู่ที่การรับมือสถานการณ์ของแต่ละราย ส่วนนี้ผมก็รู้สึกว่าทางทีมของเราค่อนข้างทำงานได้ดี เป็นที่น่าประทับใจ”

ด้าน โก๋ ผู้ก่อตั้งอีกคนก็เสริมว่า การจัดงานสัปดาห์หนังสือ online ในครั้งนี้ สามารถทำยอดขายขึ้นไปกว่า 100 เปอร์เซ็นต์ภายในเดือนเดียว!!

“ตัวสัปดาห์หนังสือที่เป็น physical เขาก็จัดไม่ได้เพราะโดยล็อกดาวน์ด้วย มันก็ประจวบเหมาะกับเราจัดงานสัปดาห์หนังสือที่บ้าน เราก็รีบไปชวน partner มาขาย E-Book ปกติสำนักพิมพ์เขาก็จะเตรียมที่จะขายปีละ 2 ครั้งตอนงานสัปดาห์หนังสือ แต่พอเจอโควิดครั้งแรก ของเตรียมไปขายที่งานหนังสือ ที่ลงทุนไปทำยังไง เน้นประชาสัมพันธ์ให้มันเป็นวงกว้างที่สุด

มันก็ได้ทั้งเราและ partner เป็นโอกาสที่จะหารายได้มาชดเชย จากการที่เขาไปออกงานสัปดาห์หนังสือไม่ได้ ทำให้เดือนนั้นยอดเราพุ่งไปเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์จากเดิมในเดือนเดียว”

ปีเดียวฟันยอดขายกว่า 1,000 ล้าน!!!

ตามที่เกริ่นไว้ข้างต้นว่ารายได้ของ MEB จากปีที่แล้ว พุ่งทะยานไปเกือบ 1,000 ล้านบาท และหากย้อนไปก่อนหน้านี้ก็พบว่า มีการเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ตามอายุบริษัทที่เพิ่มขึ้นในทุกปี

“อ้างอิงจากเว็บไซต์ของกระทรวงพาณิชย์ ปี 2019 เราปิดที่ยอดขายประมาณ 600 ล้าน (กำไร 82,563,693 บาท) ผมจะบอกว่าสิ่งที่มันจริงๆ เราเป็นบริษัทที่ทำกำไรได้ มันคงเป็นเรื่องยากที่เราจะทำยอดขายให้มันโตขนาดนี้ แต่มันยากกว่าที่ทำให้ยอดขายโตระดับนี้แล้วยังมีกำไร

ช่วงที่ทุกอย่างดูสดใสสว่างไสว ใครๆ ก็เติบโต อาจจะยังมองเห็นเราไม่ชัด พอในช่วงความยากลำบาก MEB ก็ยังทำตัวเหมือนเดิม เราไม่ได้ใช้กระบวนท่าซับซ้อน แต่เราพยายามทำให้สิ่งที่ทำดีอยู่แล้ว มีความสม่ำเสมอมาเรื่อยๆ ก็ทำให้เกิดผลว่า ปี 2020 เราปิดยอดได้เกือบ 1,000 ล้าน (กำไร 166,047,442 บาท)

ถ้าดูของเราย้อนหลังไป 5-6 ปี ก็จะเห็นว่าเราเป็นธุรกิจร้าน E-Book ที่เติบโตได้ดี มีความมั่นคง ทั้งในแง่ยอดขาย กำไร ฐานผู้ใช้ และจำนวนหนังสือที่ขาย เราสามารถเติบโตได้โดยที่ยังรักษาคุณภาพของบริการได้เป็นอย่างดี การที่ MEB มีกำไรคือความมั่นคงของลูกค้า คือความยั่งยืนของร้านเรา เราไม่ได้มาเร็วไปเร็ว เราจะอยู่กับพวกคุณนักอ่าน สำนักพิมพ์ นักเขียน ไปอีกนาน” ไช้กล่าว

เมื่อผู้สัมภาษณ์ถามต่อว่า เป็นความตั้งใจของบริษัทหรือไม่ที่ต้องการให้ธุรกิจเติบโตขึ้นทุกปี โก๋ ก็ให้คำตอบว่า เป็นความตั้งใจส่วนหนึ่ง แต่ผลที่เกิดขึ้นไม่ได้ใช้กลยุทธ์ทางธุรกิจใดๆ หัวใจสำคัญคือ ทำสิ่งพื้นฐานที่ควรทำอย่างสม่ำเสมอ

“ทุกคนทำบริษัทก็ต้องตั้งใจอยู่แล้วจะให้บริษัทเติบโต แต่มักจะมีคำถามเหมือนกับว่า มีเคล็ดลับหรือท่าไม้ตายอะไรบางอย่างรึเปล่าที่ทำให้ growth hack startup เรายึดถือในปรัชญาพื้นฐานคือ คุณต้องวิ่งทุกวันวันละ 100 กิโล คุณชกลมวันละ 100 ครั้ง คุณทำท่าพื้นฐานไปเถอะแล้วคุณจะแกร่งขึ้นเอง คุณไม่จำเป็นต้องฝึกท่าไม้ตายพิสดารทุกวันทุกท่า เพราะสุดท้ายแล้วถ้าพื้นฐานคุณอ่อน คุณก็ไม่รอดอยู่ดี

ดังนั้น เราเน้นพื้นฐาน เราเน้นของที่รู้สึกว่า experience การอ่านต้องดี ต้องมีหนังสือครบ ต้องใช้งานไม่มีปัญหา ไม่ต้องมีอะไรพิสดารมากมาย ตอบโจทย์พื้นฐานลูกค้า มีปัญหาโทร.มา เราจะต้องแก้ปัญหาลูกค้าได้เร็ว เราต้องทำอะไรที่มันตอบโจทย์พื้นฐานได้ครบ ไม่ต้องมีท่าไม้ตาย มันก็จะเดินไปของมันเอง เดินไปข้างหน้าอย่างมั่นคง

วิธีคิดของเราจะต่างจาก startup ที่พยายาม growth hack เราจะเดินไปเรื่อยๆ อย่างมั่นคงมากกว่า มันจะช้าจะเร็วก็แล้วแต่จังหวะของมัน ถ้าจังหวะดีก็ไปได้เร็ว แต่เรามั่นใจว่าเราจะเดินไปได้เรื่อยๆ แบบไม่ล้ม เพราะเรามีพื้นฐานมั่นคง Start up หลายๆ ที่ผมว่าแต่ละที่ก็มีกลยุทธ์ที่แตกต่างกันไป แต่การทำกำไรได้ก็ยังเป็นของจริงอยู่ดี เพราะเป็นตัวที่บอกว่า ที่นี่จะอยู่ บริษัทนี้จะมีความมั่นคง ในธุรกิจ เศรษฐกิจได้นานมั้ย”

และอีกคำถามที่ผู้ใช้งานอยากทราบ นั่นก็คือ E-Book ที่ซื้อจาก MEB ไปนั้นจะอยู่ได้นานเพียงใด ยาวนานเท่าหนังสือเล่มหรือไม่ ไช้ ได้ให้คำตอบถึงเรื่องนี้ว่า หากจะเปรียบเทียบแล้ว ไม่ว่าจะหนังสือเล่มหรือ E-Book ก็มีอายุการใช้งานไม่ต่างกัน ขึ้นอยู่กับปัจจัยของผู้อ่านที่เจอ

“จุดกำเนิดของ MEB อยู่ที่ปี 2011 กำลังจะครบรอบ 10 ปีในปีนี้ แต่อย่าง 2-3 เดือนที่ผ่านมา น้ำท่วม ทุกๆ 10 ปีประเทศไทยจะน้ำท่วมใหญ่ มหาอุทกภัยตอนนั้นเล่มหนังสือก็เสียหายกันไปเยอะ ของที่จะอยู่กับเขาตลอดไปก็ไม่อยู่ตลอดไป ห่อปกอย่างดี ซื้อ 2 ฉบับ ฉบับนึงเอาไว้อ่าน ฉบับนึงเอาไว้เก็บ ก็โดนน้ำท่วมไปหรือไม่ก็ขึ้นรา อ่านไปก็เก่าได้ ขาดได้

E-Book มันอยู่ในเครื่องเราตลอดไปมั้ย มองมุมนึงมันก็ไม่ต่างกัน อุปกรณ์เสียมันก็หายไป แต่เราตอกย้ำความเชื่อมั่นลูกค้ามาโดยตลอดว่าของเราตัวจริง ไม่มีสูญหาย หนังสือจะอยู่กับพวกเขาไปนานๆ ด้วยบริการของ MEB ก็จะถูก back up สำรองไว้ใน cloud ด้วย ในอนาคตต่อให้อุปกรณ์เสียหายหรือเปลี่ยนเครื่อง เขาก็ยังโหลดใหม่ได้

มุมมองภายในของเรา เรารู้ว่าสิ่งนี้เป็นสิ่งสำคัญ ระบบสำรองข้อมูล ระบบต่างๆ ของเราก็จัดเต็มเหมือนกันหมด ดังนั้นประเด็นนี้ผมมองว่า ถ้ามาวัดอายุการอยู่ ผมว่า e-book กับหนังสือก็ไม่ต่างกันครับ ที่เหลือคือนักอ่านจะเข้าใจและเชื่อมั่นกับมันแค่ไหน การที่ MEB มีความมั่นคงทางรายได้และกำไร คือความมั่นคงของนักอ่านด้วย เราจะต้องดูแลสิ่งที่เขาซื้อ ให้อยู่กับเขาไปนานๆ”

ล้มลุกมาด้วยกัน จากเพื่อนซี้สู่ partner ธุรกิจ

สำหรับจุดเริ่มต้นของทั้ง 2 ผู้ก่อตั้ง MEB นั้น ไช้และโก๋ เป็นเพื่อนกันมาตั้งแต่สมัยเรียนปริญญาตรี ทั้งคู่เคยศึกษาที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หลังเรียนจบต่างคนต่างแยกย้ายไปตามเส้นทางของตนเอง วนเวียนอยู่ในสาย software ตามที่ได้ศึกษา แต่ยังมีการติดต่อกันเรื่อยมา

และด้วยความที่เป็นคนรักการอ่านทั้งคู่ ก็ทำให้ได้จับพลัดจับผลูมาเปิดสำนักพิมพ์มาด้วยกัน

“ผมเป็นคนรักหนังสือ ตอนน้ำท่วมมันอาจจะเป็นจุดเริ่มต้นของ MEB แต่จริงๆ ก่อนหน้านั้นเราก็ทำหนังสือมาเรื่อยๆ โดยที่ผมกับคุณโก๋ก็เป็น บก.ดูต้นฉบับกันเอง จัดหน้าเอง จัด art work ทำหน้าปกเอง งมอยู่ที่คอมพ์ฯ เราไม่ได้มาพร้อมด้วยทุนทรัพย์ ทุนก็ทุนตัวเอง

(ทุน) 50,000 บาท ถ้าเป็นคนที่มีทุนเยอะๆ เขาก็อาจจะจ้างพนักงานให้ครบทั้ง function เจ้าของเงินก็คอยกำกับดูแลให้เรียบร้อย แต่ตอนแรกๆ คนทำบัญชีเป็นพวกผม นั่งทำบิลทำอะไร เขียนโปรแกรมก็พวกผม ขายงานก็พวกผม ส่งไปรษณีย์ ใบเสร็จก็พวกผม ดังนั้นเวลามีปัญหา มี pain point อุปสรรคทางธุรกิจ พวกเราจะซาบซึ้งมากว่ามันลำบากเหมือนกัน

(เป็นเพื่อนกัน) 24 ปีอาจจะถึง เวลามาทำตรงนี้ก็ค่อนข้างรู้จักนิสัยใจคอ รู้จักข้อดีข้อเสีย คนเราพอมาด้วยจุดมุ่งหมายเดียวกัน มันจะเป็นตัวตนจริงๆ พอวันนึงจะตั้งบริษัทก็เข้าใจกันง่ายว่า partner เราเป็นยังไง

ผมเชื่อว่าไม่ว่าจะเป็น partner, founder หรือ สามีภรรยา คนมันต้องมีศีลเสมอกัน ถ้าเป็นภาษาสมัยใหม่ เคมีมันต้องไปกันได้ เวลามันมีผลงานอะไรออกมา ไม่ต้องเคลมหรอกว่ามันเป็นผลงานใคร มันคือผลงานของพวกเรา พอบริษัทมันโตขึ้น ความดีความชอบหรือความสำเร็จมันไม่ได้อยู่แค่ตัวผม พวกเรามีทีมที่ดี ทำงานเข้าขากัน มันก็มาถึงจุดนี้ได้”

และแล้วก็มาถึงจุดเปลี่ยนของแวดวงนักอ่านที่พบว่า เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทมากขึ้น และด้วยความรู้ที่เคยศึกษาในสมัยมหาวิทยาลัย ประกอบกับประสบการณ์ด้านสำนักพิมพ์ ได้ถูกนำมาต่อยอดเป็นร้านหนังสือ online และ MEB ก็ได้ถือกำเนิดขึ้นราว 10 ปีที่แล้ว ที่ในครั้งแรกเริ่มนั้น มีหนังสือในร้านเพียงแค่ 100 กว่าเล่มเท่านั้น

“ปีแรกๆ ที่เราทำ ไปคุยกับร้านหนังสือใหญ่ๆ คุยจับมือกับพวกผมมั้ย ลงหุ้นกันคนละส่วน พวกผมถือส่วนนึง จะได้เป็นเหมือนสถาบันกลางของ E-Book แต่ไปคุยทุกรายเขา say no กันหมด (หัวเราะ)

ตอนนั้นเราเลือกที่จะจับกลุ่มลูกค้ากลุ่มนึง ที่เรามองว่าตอนนี้มันเป็น potential คือกลุ่มที่เขาตีพิมพ์ด้วยตัวเอง เป็นกลุ่มที่ลูกค้าอาจจะซื้อตามร้านหนังสือยาก ต้องสั่งนักเขียนเท่านั้น

เราก็เลยได้ชวนนักเขียนกลุ่มที่ทำหนังสือทำมือ มาขายเป็น E-Book เถอะ เพราะมีลูกค้าอยู่ต่างประเทศ อยู่ต่างจังหวัด มันไม่สะดวก มันไม่มีในร้านหนังสือ เราก็เลือกที่จะเน้นไปที่กลุ่มนั้น แล้วค่อยๆ ขยายทีละกลุ่มๆ

นักเขียนอาจจะมีแฟนติดตาม 100-200 คน ไม่เป็นไร ก็ควรจะ service แฟนคุณ 1 คนอยู่ต่างประเทศ จะซื้อหนังสือเล่มเขาก็ซื้อไม่ได้ ถ้าเขาเป็นแฟนหนังสือคุณ ก็ลง E-Book ง่ายๆ มันก็โอเคแล้ว

ดังนั้นพื้นฐานเราจะ treat partner เราค่อนข้างเท่าเทียมกัน จะเป็นรายเล็ก รายใหญ่ เราก็ treat เหมือนๆ กัน เราไม่มองว่าคนนี้ขาย 10 เล่ม 100 เล่ม ไม่ชวนหรอก เขามีลูกค้า 10 คนก็ treat ไม่ต่างกัน” โก๋ย้อนเล่าถึงจุดเริ่มต้น

ขณะที่ ไช้ ก็เสริมถึงการหาสินค้าเข้าร้าน นอกจากจะหา partner ที่เป็นสำนักพิมพ์ต่างๆ แล้ว ยังมีการติดต่อกับนักเขียนโดยตรง รวมถึงการรับฟังความต้องการนักอ่าน โดยรับหน้าที่เป็นคนกลางในการติดต่อกับนักเขียนอีกที

“การหา content E-Book เริ่มตั้งแต่มีนักอ่านเข้ามาในร้านเรา เขาก็หาหนังสือเล่มนี้ ก็จะบอกว่าช่วยฝากไปหาเล่มนี้มาขายให้หน่อยได้มั้ยคะ ชอบมากเลย แต่หาซื้อไม่ได้แล้ว นั่นคือเสียงจากผู้บริโภค เราก็เข้าไปติดต่อหานักเขียนว่าจะเอามาขายที่ E-Book ได้มั้ย ยิ่งหนังสือที่ขาดตลาดไปแล้ว ในแง่การทำประโยชน์จากมันหรือการทำกำไร เจ้าของผลงานเขาก็ทำอะไรไม่ได้แล้ว การที่เราไปชวน เขาก็จะเปิดใจมาขายเราได้ง่ายกว่า

หรือหนังสือบางเล่มเราก็ไปสำรวจตลาดนักเขียนทำมือ พิมพ์เองขายเองมีจำนวนจำกัด เขาจะเขียนในเว็บบอร์ด หมดแล้วนะคะรอบนี้ ก็จะมีคนอยากอ่านอีก พิมพ์เพิ่มอีกได้มั้ยหนูมาไม่ทัน เราก็เข้าใจนักเขียนว่าเขาทำเป็นรอบๆ ก็ถามว่ามาขาย E-Book มั้ย มันเป็นรายได้ส่วนเพิ่มพิเศษ ถ้าไม่ทำอะไรก็ไม่ได้ พอวางขาย E-Book เสร็จ มีส่งแจ้งไปบอกว่ามีหนังสือเปิดขายแล้วนะ ฝากไปแจ้งแฟนๆ ด้วยนะครับ เขารอกันอยู่

หรือบางคนที่เคยมาถามหาหนังสือจากเรา สนใจเล่มนี้ พอมาเราก็แจ้งบอกลูกค้า ลูกค้าก็ประทับใจว่าติดตาม บางทีผ่านมาครึ่งปี ตอนนี้ออกแล้ว เรายังไปบอกเขาว่าออกแล้วจ้า อะไรแบบนี้มันก็เป็นความเอาใจใส่ของเรา มันก็มี story ผมเรียกสิ่งเหล่านี้ว่าของพื้นฐานที่บริษัทต่างๆ ควรจะมี ใครๆ ก็อยากเติบโต อย่าให้ความรู้สึกมันบดบังรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ที่เราควรจะสนใจ สิ่งนี้ผมว่าสำคัญมากๆ เลย”

จากทุน 50,000 บาท ในวันนั้น สู่ยอดขาย 1,000 ล้านบาท ในวันนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย เมื่อถามถึงอนาคตของ MEB ว่ามีเป้าหมายไปในทิศทางใด หนึ่งในผู้บริหารก็กล่าวว่า ยอมรับว่าในตอนนี้บริษัทอยู่ในจุดที่เป็นที่น่าพึงพอใจ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ยังไม่ใช่จุดหมายปลายทางเสียทีเดียว

“ตอนที่ทำ MEB ผมก็ไม่ได้คิดว่ามันจะต้องเติบโตหรือเติบใหญ่เท่าตอนนี้ เรามีเป้า แล้วเราอยากทำให้มันดีที่สุดตามเป้านี้ ส่วนยอดขายสำหรับผมมันไม่ใช่เป้า แต่มันเป็นผลลัพธ์จากการที่เราตั้งว่าเราจะทำสิ่งนี้ๆ แล้วยอดขายมันก็จะตามมา

พวกผมไม่ได้ตั้งเป้ายิ่งใหญ่ เราแค่คิดว่าจะทำให้มันดี มาถึงจุดนี้จากคนที่เห็นตั้งแต่วันที่ไม่มีอะไรเลย ผมก็ดีใจแล้วก็พึงพอใจมาก แต่มันก็ยังมีความท้าทายใหม่ๆ ผมเชื่อว่า ปรัชญาในการทำธุรกิจของ MEB เรามาไม่ผิดทาง เราก็เลยมองว่าถ้านำแนวคิดนี้ไปใช้ในธุรกิจอื่นๆ ผมเชื่อว่าเราก็น่าจะสามารถสร้างความสุขหรือความสำเร็จให้ธุรกิจในภาคส่วนอื่นได้

คู่แข่งไม่เท่ากับศัตรู positioning อาจจะดูซ้อนทับในตลาดเดียวกัน เราก็ได้ join ตั้งหลายราย ได้มาคุยกันว่าทำอะไรด้วยกันได้มั้ย เอางานมาขายกันมั้ย การที่มีร้าน E-Book ใหม่ๆ platform ใหม่ๆ เพิ่มขึ้นมา คิดว่าเป็นเรื่องธรรมชาตินะ ผมคิดว่าถ้ามองโลกในแง่ดีก็ช่วยกันทำตลาด และอีกแง่นึงก็บอกเราว่า อะไรที่เรายังทำได้ดีกว่านี้หรือยังไม่ได้ทำ

ยอดขายตอนนี้ที่เราทำได้ดี เนื่องจากเราไม่คิดว่าเป็นจุดสุดท้าย ไม่ใช่จุดความสำเร็จของเรา เรายังต้องมีอะไรให้ทำอีกเยอะแยะ ฉะนั้น พอมีอะไรเข้ามาเราก็ต้องไปดูเขาเหมือนกัน ว่ามีอะไรในแง่มุมไหนที่คู่แข่งทำได้ดี แต่เรายังบกพร่องอยู่มั้ย กลับมาทบทวนตัวเองอยู่เสมอๆ แต่เวลามีอะไรกระตุ้นจากภายนอกมันทำให้เรารู้สึกว่ากระชุ่มกระชวย” ไช้ให้คำตอบ

ผุด “re adAwrite” แหล่งกำเนิดนักเขียนหน้าใหม่

ความสำเร็จที่เกิดขึ้นกับ startup แห่งนี้ ไม่เพียงแค่ทีมงานผู้ก่อตั้งที่ได้ประโยชน์เท่านั้น เพราะทุกวันนี้MEB กลายเป็นพื้นที่สร้างนักเขียนโดยเฉพาะแนวนิยาย จนหลายคนสามารถตั้งตัวได้จากการขายงานทาง E-Book

“ถ้าพูดถึง MEB ความที่เรารู้สึกว่าดีใจ ณ วันแรกๆ ที่เราขาย E-Book ยอดขายก็ไม่เท่าไหร่ เหมือนเป็นค่าขนม ค่าข้าว ค่ากาแฟ แต่พอหลังๆ ยอดขายที่ดีขึ้นในร้าน นักอ่านให้การตอบรับ หลังๆ E-Book เริ่มมาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของหลายๆ คน รวมถึงนักเขียน

บางทีในช่วงที่ยอดขายออก นักเขียนก็จะมาขิงกัน มาคุยกันว่าเงินเดือนออกแล้ว เขาก็มีความสุข บางคนก็มีไปโพสต์ในเฟซบุ๊ก ซึ่งเขาไม่ได้มาโพสต์ให้เราดูนะ แต่เราไปเห็นเอง บอกว่าวันนี้เขาซื้อที่ดินเล็กๆ ตรงนี้ที่ต่างจังหวัด เขาจะไปโอนบ้าน ทั้งหมดก็น้ำพักน้ำแรงจากการที่เขาขาย E-Book มา เห็นอย่างนี้แล้วรู้สึกใจพองมั้ย มันเป็นสิ่งที่เราไม่ใช่เป็นแค่ร้าน E-Book เราเป็นน้ำเลี้ยง เราเป็นอะไรที่ทำให้เขาอยู่ได้

บางคนบอกมีพ่อแม่แก่ชรา โอนเงินค่า E-Book ไปให้ นักเขียนบางคนอยู่ต่างประเทศ มีรายได้จากการขาย E-Bookส่งไปให้คนที่บ้านใช้ สิ่งนี้มันคือ MEB ในปัจจุบัน” ไช้กล่าวพร้อมรอยยิ้ม

สำหรับงานเขียนที่ขายใน MEB คืองานเขียนที่จบสมบูรณ์แล้ว ที่อาจจะต้องใช้เวลากว่าที่จะได้มาเป็นรูปเล่มให้อ่าน
แต่ราว 4 ปีที่แล้ว ร้านหนังสือ online แห่งนี้ได้ปล่อย Application ใหม่ออกมา นั่นก็คือ “readAwrite” ที่นักเขียนสามารถลงผลงานเป็นรายตอน แถมบางคนยังลงผลงานให้ทดลองอ่านกันฟรีๆ เรียกได้ว่าเป็นพื้นที่สร้างนักเขียนหน้าใหม่ขึ้นมามากมาย

“MEB เกิดมาซักพักใหญ่ประมาณ 6-7 ปี เราก็ระลึกว่ามันปลายน้ำ งานเขียนถูกเขียนมาเรียบร้อยจบเล่ม แต่มันก็จะมีงานที่อาจจะกำลังเขียนอยู่ หรือเขียนเสร็จแล้วแต่ยังต้องเกลาอีกระดับนึง ก็ยังมีนักอ่านที่เขารออ่าน

สมัยก่อนนึกภาพนิตยสารที่มีอะไรพวกนี้อยู่ อ่านเป็นรายตอน รายสัปดาห์ เราก็เลยคิดว่าเราอยากจะสร้างต้นน้ำของงานวรรณกรรมขึ้นในรูปแบบที่เป็นออนไลน์ สิ่งนั้นคือ readAwrite พอเป็นการขายรายตอน นักอ่านก็สามารถซื้อได้ทันทีที่ตอนนั้นออก ในราคาที่ถูกกว่าการซื้อเป็นเล่ม อยากอ่านเร็วก็อ่าน readAwrite อ่านแบบ completed จบเล่มก็อ่านใน MEB

นักเขียนที่เป็นนักเขียนหน้าใหม่ เยาว์วัยหน่อย สมัยก่อนการเขียนอาจจะไปลงตามเว็บนิยายต่างๆ พอสำนักพิมพ์เห็นว่ามียอดเข้าชมดี ก็ซื้อลิขสิทธิ์ไปตีพิมพ์เป็นเล่ม แต่พอเป็น readAwrite สามารถให้มาทดลองอ่าน ถึงตอนเท่านี้ก็ติดเหรียญขาย นักอ่านก็สามารถซื้อได้เลย readAwrite อาจจะไม่เป็นการขายอย่างเดียว นักเขียนหลายท่านก็เขียนออกมาให้อ่านฟรี”

ทางด้าน โก๋ ก็เสริมถึงจุดประสงค์ของ readAwrite ว่า ตั้งสร้างขึ้นมาเพื่อเป็นพื้นที่ในการปล่อยของของนักเขียนทั้งหลาย

จุดเริ่มต้นของ readAwrite เราไม่ได้ทำมาเพื่อทำเงิน วันแรกที่ออกเราไม่มีระบบการขายเลย จุดประสงค์หลักเกิดมาเพื่อ support นักเขียน การเติมเต็ม environment ให้เขามีพื้นที่ในการออกของมากกว่า เราสร้างแบบที่นักเขียนน่าจะชอบการขายมันมาทีหลัง พวก banner โฆษณา มันไม่ใช่ของที่ลูกค้าอยากได้ ไม่ใช่ของที่นักเขียนอยากได้ ตอนนี้บริษัทอยู่ได้ งั้นเราทำ readAwrite มาเป็นของที่เขาอยากได้ ทำสิ่งที่เรารู้สึกว่ามันน่าจะดีที่สุดมาก่อน ตอนนี้ก็เริ่มอยู่ได้ กำไรก็ปริ่มๆ

มันต้องควบคู่กับครึ่งๆ ถ้าคุณทำสนอง need อย่างเดียว ไม่เอากำไรเลย บริษัทอยู่ไม่ได้ ลูกค้าก็เสียประโยชน์ เรามีหน้าที่รับผิดชอบต่อลูกค้า เรามีหน้าที่เติบโตไปทำกำไร ทั้งต่อคู่ค่า ต่อพนักงาน ก็ต้อง balance แต่ถ้าเราอาศัยทำกำไร ขึ้นค่านู่นค่านี่ตลอด มันก็ไม่ใช่ เราต้องทำให้ทุกฝ่ายอยู่ด้วยกันได้”

ปัจจุบัน มีงานเขียนใน MEB กว่า 200,000 เล่ม และใน RreadAwrite นับล้านเรื่อง ส่วนจำนวนผู้ใช้งานอยู่ที่ราว 6,000,000 บัญชี ขณะผู้ใช้งานประจำวันอยู่ที่ประมาณ 2,000,000 บัญชี

“readAwrite เราให้โอกาสและให้เครื่องมือนักเขียน บริการอันไหนที่ใช้ฟรีก็เยอะแยะ หรือว่าส่วนไหนที่ต้องมีการเก็บส่วนแบ่งรายได้จากการขาย ก็ให้เก็บบนพื้นฐานของความยุติธรรม เพราะเราตั้งใจจะอยู่กับสิ่งนี้ไปนานๆ จะไม่ทำธุรกิจแบบตีหัวเข้าบ้าน หรือรีบทำกำไร โกยๆ แล้วเจ้าของเผ่นไปแล้ว ไม่ได้

จุดประสงค์ของการทำ MEB จะเป็นร้านขายหนังสือ E-Book ถ้าไปดูปริมาณของ content ใน MEB จะขายเป็นส่วนใหญ่ ส่วน readAwrite เหมือนเป็นชุมชนนักเขียน นักอ่าน ผมคิดว่าอ่านฟรีเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้นอัตราการทำกำไร รายได้ย่อมแตกต่างกัน เพราะจุดประสงค์ไม่เหมือนกัน แต่ทั้ง 2 อันนี้ต้องถือว่าเป็น product ที่เราภูมิใจที่สร้างมันขึ้นมาได้

readAwrite จะเป็นกลุ่มคนที่วัยรุ่นมากกว่า เจน Z คนที่กำลังเรียนอยู่ อายุ 15-18 ถ้าเขาขายได้รายได้เป็นพันๆ หมื่นๆ เขาภูมิใจมากเลยนะ เขาอาจจะโอนให้แม่เดือนละ 1,000-2,000 บาท เขาอยากจะไปดูคอนเสิร์ต จะไปทำอะไร เขาใช้เงินของเขาดูแลตัวเขาเองได้ นั่นคือสิ่งที่ readAwrite สร้างความสุขให้กับนักเขียนในมิติเหล่านั้นพอสมควร” ไช้กล่าว

หวัง “หนังสือเล่ม” กับ “E-Book” โตไปพร้อมกัน

ไม่เพียงแค่ตอบสนองความต้องการของผู้ผลิตผลงานเท่านั้น ในฐานะร้านหนังสือ ก็ต้องคอยหาหนังสือหลากหลายประเภทมาตอบสนองความต้องการของนักอ่านด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะการ์ตูนที่ถูกเพิ่มเข้ามาในช่วงหลัง ไช้เล่าว่าแม้จะมีข้อจำกัดลิขสิทธิ์ แต่ก็พยายามที่จะนำมาถึงมือผู้อ่านอย่างถูกต้องให้ได้

“ผู้ชายอายุประมาณพวกผม ต้นเจน Y ปลายเจน X ก็จะเติบโตมากับการ์ตูนมังงะ การ์ตูนทีวี เป็นความสนใจส่วนตัว แต่เราก็รู้ว่ายังมีนักอ่านที่เขามีความสนใจแบบเดียวกับพวกผม แล้วเราก็อยากจะทำด้านนี้

ธุรกิจการ์ตูน เมื่อประมาณ 5-6 ปีที่แล้ว มันมีสถานการณ์ นิตยสารการ์ตูนรายสัปดาห์ เลิกไปทีละหัว ก็มีความกังวลเกี่ยวกับการละเมิดลิขสิทธิ์ ไม่ซื้อแล้วมาอ่านในเว็บไซต์อ่านฟรี ซึ่งในเว็บไซต์พวกนี้มันมีโฆษณาที่ไม่ค่อยเหมาะสม บังคับเราดูไปเรื่อยๆ คุณต้องไปหาอ่านตามยถากรรม เว็บนี้มีถึงตอนที่ 20 ไปๆ มาๆ ติดไวรัส สิ่งนี้ทุกคนเป็นกังวลถึงความยากในแง่ของการเข้าไปปราบปรามเว็บเหล่านั้นให้มันหมดไป

ตอนนั้นพวกผมก็ทำ MEB แล้ว สิ่งที่เราจะทำคือทำให้คนสามารถเข้าถึงของที่ถูกลิขสิทธิ์ได้ง่ายและสะดวกกว่า จะดีกว่ามั้ยถ้าทำให้ถูกลิขสิทธิ์ ซื้อได้ง่าย และเก็บได้เป็น collection เหมือนกับที่เราเคยสะสมการ์ตูน เราก็เลยพยายามคุยกับสำนักพิมพ์การ์ตูนที่เราเคยอุดหนุนกันมาที่เป็นเล่มกระดาษ จะชวนมาขาย E-Book ก็ได้รับทราบถึงข้อจำกัด ปัญหาค่าลิขสิทธิ์มันแพง นู่นนี่นั่น จะดีลกับต้นสังกัดไม่ได้ง่ายหรอกที่จะมาขาย E-Book ก็ช่วยกันผลักดัน”

นอกจากนี้ ยังให้ความสำคัญกับเนื้อหาของผลงานที่ลงขาย และย้ำความมั่นใจว่า ข้อมูลของผู้ใช้บริการจะไม่รั่วไหลอีกด้วย

“MEB เราอยู่บนพื้นฐานของที่เอามาขาย คือ ไม่ผิดกฎหมาย เนื่องจากในเมืองไทยไม่มีหน่วยงานกลางที่จะมาเป็นตัวเสริมเรื่องอายุ เราก็มีระบบที่เราเก็บว่าคนนี้ได้รับการยืนยันว่าอายุเกินเกณฑ์แล้ว โดยที่เราไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวของลูกค้า แล้วหลังจากนั้นสำนักพิมพ์ก็คัดกรองคนอ่านได้ว่าผ่านเกณฑ์

ถ้ามีการ censor จะถูกเตรียมมาจากสำนักพิมพ์ คุณโก๋เคยไปดูงานที่เกาหลี ก็มีแง่มุมน่าสนใจที่บ้านเราอาจจะเอาไปใช้ได้ในอนาคต เท่าที่ทราบจะมีหน่วยงานกลางของรัฐที่ verified ข้อมูลของผู้ใช้งานอินเตอร์เน็ต อายุผ่านเกณฑ์นี้ๆ

ถ้าเราจะควบคุมดูแล เราต้องยอมรับว่าสิ่งนั้นมันมีอยู่จริง content ตัวนี้ถูกจำกัดเพราะมันมี rating 13, 18, 25 อะไรก็ว่าไป นักเขียนต้องใช้ rate เท่านี้ ต้องไปตรวจสอบกับข้อมูลส่วนกลางที่ได้รับความน่าเชื่อถือ ผู้อ่านก็สบายใจที่ข้อมูลเขาได้รับการปกป้องอย่างดี ก็สามารถเช็กได้ ว่าสิ่งนี้คนใช้ผ่านเกณฑ์หรือยัง

ถ้าเนื้อหาที่มันสามารถเข้าถึงได้ง่าย เนื้อหาที่มีความจำเพาะ ความรุนแรง เรื่องที่มันอ่อนไหว หรือว่ามีเรื่องเพศมาเกี่ยว ก็จำกัดให้คนที่เขามีคุณวุฒิ วัยวุฒิให้เหมาะสม แต่มันก็ตลกอย่างประเทศไทย คนไทยที่ไปถ่าย onlyfans โดนจับ ทั้งที่เราเข้าไปใน Google เราก็เจอ ผมดูแล้วมันย้อนแย้งพอสมควร แต่มองโลกในแง่ดี บ้านเราก็อาจอยู่ในช่วงการเปลี่ยนผ่าน ทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนผ่านก็จะหาจุดที่ลงตัวของมันได้”

เมื่อบทสนทนาดำเนินมาถึงสุดท้าย ในฐานะที่ทั้งคู่คลุกคลีอยู่ในแวดวงนักอ่านมาอย่างยาวนาน ผู้สัมภาษณ์จึงอยากให้ช่วยสะท้อน สิ่งที่อยากเห็นในวงการหนังสือบ้านเรา โดยโก๋ ให้คำตอบว่า ส่วนตัวแล้วอยากเห็นนิยาย sci-fi ในรูปแบบของ E-Book บ้าง

“นิยาย sci-fi หรือพวกหนังสือแปล เขาไม่ยอมมาทำเป็น E-Book (หัวเราะ) มันก็เป็นความอยากส่วนตัวในฐานะคนอ่าน แต่ถ้ามองในมุมมองของร้านและมุมมองของลูกค้าทั่วไป ผมเชื่อว่าต้องมีความคิดแบบเดียวกับผม หลายครั้งเราก็อยากจะเข้าไปคุยกับสำนักพิมพ์ ว่ามันก็มีลูกค้าแบบนี้อยู่ บางเล่มมันหนามาก สุดท้ายผมก็อ่านไม่ได้ มันถือไม่ไหว (หัวเราะ)

เราก็พยายามนะ พยายามไปติดต่อ แต่เขาก็บอกว่าอาจจะมีปัญหาเรื่องการขอลิขสิทธิ์หรืออะไรก็ตาม แต่ก็อยากให้สำนักพิมพ์มองว่า ขายได้ 1-2 เล่ม ถ้าเขาไม่ได้มีต้นทุนเพิ่มอะไร มันก็เหมือนกับเป็นการรักษาลูกค้า แทนที่จะเจอลูกค้าไม่เอาหนังสือเล่มแล้วเพราะมันหนัก เขาถือไม่ไหว อ่านตัวเล็กๆ ไม่ได้ ทำให้เขารักษาฐานลูกค้าของสำนักพิมพ์เขาได้อยู่

สุดท้ายสำนักพิมพ์ก็ได้ margin จากส่วนนั้นเท่าๆ กัน แล้วก็ปล่อยให้เป็นหน้าที่นักอ่านว่าเขาอยากเสพแบบไหน ซึ่งจริงๆ นักอ่านหลายๆ คนก็มีซื้อ e-book ไว้อ่าน ซื้อหนังสือเล่มไว้เก็บ มีเยอะมากเหมือนกัน ดังนั้นผมมองว่าสำนักพิมพ์น่าจะลองเปิดใจตรงนี้ เพราะผมก็อยากอ่านพวกนิยาย sci-fi ที่เป็น e-book ด้วย”

ขณะที่ ไช้ อยากให้หนังสือเล่มและ E-Book เติบโตไปด้วยกัน ไม่ควรแบ่งแยกว่าสายไหนดีกว่า อย่าไปทำให้หนังสือมันตายด้วยการที่ตัดตอนทางใดทางหนึ่ง

“สิ่งที่อยากเห็น เราควรจะเลิกแบ่งแยกว่าฉันเป็นสาย E-Book ฉันเป็นสายหนังสือ ในฐานะนักอ่านแล้วแต่ความถนัดว่าใครชอบอ่านแบบไหน แต่ในระดับคนทำหนังสือ ผมอยากให้มองว่า 2 อย่างนี้เป็นเครื่องมือที่นำเนื้อหาสาระของผู้สร้างสรรค์ไปหานักอ่าน อย่าเอามือไปอุดท่อทางใดทางหนึ่ง ปล่อยให้ทั้ง 2 อย่างมันขับเคลื่อนไปตามสิ่งที่มันเป็น

ถ้านักอ่านสนใจจะอ่านหนังสือเล่มนี้เป็น E-Book ก็อยากให้สำนักพิมพ์เปิดใจ ที่ผ่านมาเหมือนจะมีขั้ว E-Book ไม่เวิร์ค ขั้วนึงบอกหนังสือกระดาษจะตาย E-Book จะโต ใส่กันไปใส่กันมา แต่ผมมองว่า ไม่ว่า E-Book จะโตหรือหนังสือเล่มจะโต สุดท้ายคนได้ประโยชน์ก็เป็นคนทำหนังสืออยู่ดี อย่าไปทำให้หนังสือมันตายด้วยการที่ตอนมันทางใดทางหนึ่ง

ธุรกิจหนังสือมันไม่เหมือนธุรกิจอื่น คนที่ทำหนังสือได้ดีต้องอาศัยความใจรักมากๆ เจ้าของก็ทำเองหมด ในฐานะที่ผมก็เคยผ่านการมีสำนักพิมพ์มาแล้ว เวลาผมไปคุยกับคนทำหนังสือ ผมจะนับถือพวกเขา ปัจจุบันมีอะไรมาแย่งเวลาคนอ่านหนังสือเยอะ ไม่ว่าจะดูซีรีส์ เล่นเกม แต่คนทำหนังสือหลายๆ คนก็ยังยืนหยัดที่จะทำสิ่งเหล่านี้ แม้ปัจจุบันสภาพตลาดอาจจะผ่านจุดที่หอมหวานมากๆ ไปแล้ว แต่คนเหล่านี้ก็ยังทำอยู่ MEB ก็อยากเป็นกำลังสำคัญให้คนทำหนังสือจริงๆ”

อีกหนึ่งเบื้องหลังความสำเร็จ “ไม่มีระบบอาวุโสในองค์กร”

ไช้ : “ด้วยโครงสร้างของ MEB เราเป็นองค์กรที่มีขนาดค่อนข้างกะทัดรัด ไม่ได้ใช้คนเยอะมากนัก พนักงานเรามีอยู่ประมาณ 70 รวมผู้บริหาร ฉะนั้นการทำงานมันค่อนข้างใกล้ชิด พอธุรกิจโตก็ต้องมีคนเพิ่มขึ้น พอมีคนเพิ่มขึ้นเร็วเกินไป วัฒนธรรมองค์กรกับคนจำนวนมันเปลี่ยน มันต้องมีลำดับขั้น มีความซับซ้อน พนักงานอาจจะไม่รู้จักกัน แต่ของเราพอเราค่อยๆ โต ทุกอย่างก็จะถูกเสริมมาอย่างเหมาะสมและไม่เร็วเกินไป พนักงานก็จะรู้จักกัน ผู้บริหารก็รู้จักพนักงาน จำชื่อได้

การลำดับขั้นที่มาก ขั้นตอนบางอย่างที่มากเกินไป มองในอีกมุมนึงอาจเป็นการทำให้ธุรกิจมันช้าลงก็ได้ แจ้งอะไรสำคัญค่อยๆ ไล่ขึ้นมา กว่าผู้บริหารระดับสูงจะรู้ว่ามีปัญหา ปัญหามันอาจจะผ่านไปนาน ปัญหามันอาจจะโดนปกปิด ปิดบัง หรือทำให้สลายไประหว่างทาง การที่มีระดับขั้นเยอะมันจะทำให้เกิดวัฒนธรรมการปิดบังความจริงได้ไม่ยาก

พอระดับขั้นมันไม่สูง มีปัญหาอะไรผู้บริหารเห็น ก็หาทางแก้ไปด้วยกัน องค์กรก็เลยจะดีอย่างที่มันควรจะเป็น มันเป็นรูปแบบการปกครอง การดูแลบริษัทที่เหมาะสมกับขนาดองค์กรอย่าง MEB ในตอนนี้”

โก๋ : “ถ้ามันโตไปอีกเป็น 10 เท่า 100 เท่า เราคงไม่สามารถ keep ให้มันเป็นอย่างนี้ได้ตลอดไป แต่โดยพื้นฐานแล้วก็อยากจะพยายามทำให้มันเป็นลักษณะนี้ให้ได้ เพราะว่าจุดแข็งอย่างนึงของ MEB คือความรวดเร็วในการตอบสนองต่อวิกฤต ต่อ crisis management เราถือว่าเป็นจุดแข็งของเรา

เวลามีอะไรปุ๊บเราจะรีบแก้ปัญหาให้มันเร็ว เพื่อไม่ให้มันกลายเป็นเรื่องใหญ่ ตอนนี้เราก็พยายามที่จะทำให้พนักงานเรามี mindset แบบเดียวกัน ซึ่งมันต้องใช้เวลาในการฝึกคน แต่เราอยากจะ keep สิ่งนี้ไว้ คุณต้องไม่ละเลยลูกค้า ให้มีวิธีคิดแบบเดียวกับ founder แล้วลูกค้าก็จะรู้สึกโอเค องค์กรก็จะโตไปเอง”

source: https://mgronline.com/live/detail/9640000117147